Page 22 - รายงานการศึกษาการประเมินแนวโน้มและทิศทางการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
P. 22
- 2 -
2.4.1 ที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood plain) ที่ราบริมแม่น้ำหรือลำธาร หน้าฝนหรือหน้าน้ำ มักมีน้ำท่วม
เป็นครั้งคราว เป็นสภาพพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา และมีตะกอนเพิ่มมากขึ้นหลังน้ำท่วม
แบ่งเป็น
(1) สันดินริมน้ำ (Levee) เป็นที่ดอน เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ
เป็นสันนูนขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำ การระบายน้ำค่อนข้างดีถึงดี เนื้อดินค่อนข้างหยาบ เช่น ชุดดินชุมพลบุรี
(Cho)
(2) ส่วนต่ำของสันดินริมน้ำ (Lower part of levee) เป็นดินลุ่ม มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ
ดินลึกมาก เนื้อดินร่วนหยาบถึงดินทรายแป้งละเอียด มีสีเทาและน้ำตาลปนเทา การระบายน้ำค่อนข้างเลว
เช่น ชุดดินธาตุพนม (Tp)
(3) ที่ลุ่มหลังสันดินริมน้ำ (Back swamp, basin) เป็นที่ลุ่มน้ำขังอยู่ระหว่างสันดินริมน้ำ
กับตะพักลำน้ำหรือด้านข้างหุบเขา การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ดินลึกมาก เนื้อดินเหนียวละเอียด สีเทา
และน้ำตาลปนเทา เช่น ชุดดินศรีสงคราม (Ss)
2.4.2 ที่ราบตะกอนน้ำพา (Alluvial plain) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของแม่น้ำหรือลำน้ำสาขา
วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นตะกอนน้ำพา (Alluvium) มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบขนาดใหญ่สองฝั่งแม่น้ำ แต่ละฝั่ง
อาจมีที่ราบแบบขั้นบันไดหรือตะพักได้หลายระดับ จังหวัดนครพนม พบส่วนของตะพักลำน้ำระดับต่ำ
(Low terrace) ซึ่งเป็นที่ลุ่ม มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ ดินลึกมาก เนื้อดินอาจเป็นดินเหนียวละเอียดถึง
ดินทรายแป้งละเอียด สีเทา น้ำตาลปนเทา และน้ำตาล มีจุดประสีต่าง ๆ การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว
เช่น ชุดดินนครพนม (Nn) และชุดดินหนองบุญนาก (Nbn)
2.4.3 พื้นเกือบราบ (Peneplain, erosional surface; erosion surface, erosional terrain,
denudation surface) เป็นภูมิลักษณ์ของพื้นผิวดินภายหลังการกร่อน เกิดจากการผุพังด้วยกระบวนการ
กร่อนทำลายโดยน้ำ ทำให้พื้นที่สูงเดิมซึ่งขรุขระและสูงต่ำแตกต่างกันมาก มีระดับต่ำลงจนมีลักษณะ
คล้ายลูกคลื่นลอนลาดหรือพื้นที่เกือบราบ วัตถุต้นกำเนิดดินเกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ หรือ
เคลื่อนย้ายมาในระยะทางไม่ไกล ดินจึงมีลักษณะเด่นตามวัตถุต้นกำเนิด หรือหินที่รองรับอยู่ด้านล่างและ
ระดับการพัฒนาตัวของดิน แบ่งเป็น
(1) พื้นเกือบราบ (Peneplain, erosional surface; erosion surface, erosional terrain,
denudation surface) เป็นภูมิลักษณ์ของพื้นผิวดินภายหลังการกร่อน เกิดจากการผุพังด้วยกระบวนการ
กร่อนทำลายโดยน้ำ ทำให้พื้นที่สูงเดิมซึ่งขรุขระและสูงต่ำแตกต่างกันมาก มีระดับต่ำลงจนมีลักษณะ
คล้ายลูกคลื่นลอนลาดหรือพื้นที่เกือบราบ วัตถุต้นกำเนิดดินเกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ หรือ
เคลื่อนย้ายมาในระยะทางไม่ไกล ดินจึงมีลักษณะเด่นตามวัตถุต้นกำเนิด หรือหินที่รองรับอยู่ด้านล่างและ
ระดับการพัฒนาตัวของดิน ตัวอย่างเช่น ชุดดินเรณู (Rn) ชุดดินสีทน (St) ส่วนที่เป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาด
ลูกคลื่นลอนชัน และเนินเขา ดินลึกและลึกปานกลาง เนื้อดินมีทรายปน ได้แก่ ดินร่วนเหนียวปนทราย
ดินร่วนปนทราย ดินทรายปนดินร่วน สีน้ำตาล น้ำตาลปนแดง อาจพบจุดประสีต่าง ๆ ลูกรัง และเศษหิน